ระบบตัดเงินผ่านบัตรเครดิต ต้องทำหรือไม่?
เมื่อลูกค้าต้องการทำเว็บไซต์ขายของ มักจะมีความต้องการ (Requirement) มาด้วยว่าอยากให้ตัดเงินเพื่อชำระค่าสินค้าผ่านบัตรเครดิตได้ ซึ่งในมุมมองของคนไม่รู้ มันก็ดูดีนะ ไหนๆ เสียเงินทำเว็บไซต์แล้วก็อยากให้มีช่องทางการจ่ายเงินที่ดี เวลาซื้อของผ่านอินเตอร์เน็ต ก็เลยจะนึกถึงการจ่ายเงิน และให้ชำระเงินผ่านทาง (บัตรเครดิต) ขั้นตอนการขอเปิดบริการจ่ายเงินผ่านบัตรเครดิต (Credit card payment gateway) จะว่าทำง่ายก็ง่าย จะว่ายากก็ยาก แต่ที่แน่ๆ มันวุ่นวายมาก โดยทั่วไปจะใช้ 2 วิธี
1. เปิด Gateway กับทางธนาคารโดยตรง (ปัจจุบันนิยมอยู่ 2 ที่ คือ ธ.กรุงเทพ และ ธ.กสิกรไทย) โดยติดต่อไปที่ธนาคาร ซึ่งมักจะให้ผู้ขอใช้บริการทำอะไรบางอย่าง เช่น ต้องจดทะเบียน E-commerce กับกระทรวงพาณิชย์ก่อน ต้องซื้ือ SSL ที่มีชื่อเสียง ระดับนานาชาติยอมรับ ต้องมีโปรแกรมเมอร์ที่เขียนโปรแกรมผ่าน Webservice เป็น ต้องเป็นบริษัทที่มีทุนจดทะเบียน 2 ล้านบาทขึ้นไป ต้องวางเงินค้ำประกัน (บางแห่ง) นั่นหมายถึง Cost ที่สูงขึ้น มีงบทำเว็บไซต์แค่ 1-3 หมื่น บอกได้เลยว่าไม่พอ
2. เปิด Gateway แบบผ่านคนกลาง เช่น Paysbuy , Paypal ซึ่งปกติจะให้บริการ E-wallet และการจ่ายเงินตัดบัตรเครดิตโดยตรง ที่ Paysbuy เรียกว่า Directpay ผู้ที่ต้องการใช้บริการ ต้องมีความน่าเชื่อถือพอสมควร ซึ่งทางคนกลางจะพิจารณาเป็นรายๆ ไปว่าสมควรจะเปิดให้ใช้หรือไม่ และไม่ต้องการ SSL เพราะเมื่อชำระเงินระบบจะเชื่อมโยงไปที่เว็บของ คนกลางเองซึ่งมีระบบ SSL อยู่แล้ว
จากตัวเลือกทั้งสองทางด้านบน มีข้อดี ข้อเสียแตกต่างกันไป นั่นคือถ้าคุณเป็นองค์กรใหญ่ เน้นทำธุรกรรมออนไลน์เป็นหลัก โดยมีทีมพัฒนาเว็บไซต์ที่เก่งกาจอยู่ในมือแล้ว ก็เชิญติดต่อธนาคารโดยตรงจะดีกว่า โดยเสียค่าบริการต่อ Transaction ไม่สูงนัก 0.5 - 3% แต่หากว่าคุณไม่มั่นใจ และพึ่งเริ่มทำ E-commerce โดยอาจจะใช้ Freelance หรือ Outsource ทั่วไป ที่ค่าจ้างไม่สูงนัก และคุณไม่มีความรู้เกี่ยวกับการตลาดออนไลน์สักเท่าไร ก็แนะนำให้ใช้บริการผ่านคนกลาง ซึ่งการเขียนโปรแกรมติดต่อ Gateway ก็จะมี API ให้ใช้งาน ซึ่งง่ายกว่าการใช้ Web service ของทางธนาคาร และคนกลางจะคอย Monitor การจ่ายเงินตลอดเวลา เมื่อมี Transaction แปลกๆ ก็จะทำการตรวจสอบข้อมูล ก่อนหักเงินจริงๆ เป็นการป้องกันอีกชั้นนึงให้คุณไม่ต้องกังวลเรื่อง การขโมยใช้บัตรเครดิตคนอื่นมาซื้อสินค้า แต่ เดี๋ยวก่อน ที่กล่าวมา ไม่ได้หมายความว่าการมีเว็บไซต์ขายสินค้า แล้วมีระบบตัดเงินผ่านบัตรเครดิตจะเป็นทางออกที่ดี
เนื่องจาก การใช้ Credit card ของคนไทยจะมีความรู้สึกว่าไม่ปลอดภัย จากข่าวที่มีประจำเกี่ยวกับการขโมยข้อมูลบัตรเครดิต ทำให้หลายๆ ท่านหลีกเลี่ยงการจ่ายเงินด้วยบัตรเครดิต และกลุ่มคนที่จะจ่ายเงินผ่านวิธีนี้มักจะเป็นชาวต่างชาติ และจะเลือกจ่้ายเงินซื้อสินค้ากับเว็บที่ดูมีความน่าเชื่อถือเท่านั้น
ดังนั้นหากจะเปิด Payment gateway ควรมองก่อนว่า กลุ่มเป้าหมายของคุณคือคนไทยหรือต่างชาติ ถ้าหากว่าเป็นคนไทย คงเป็นทางออกที่ไม่ดีนัก จากประสบการณ์ตรง คนไทยเหมาะที่สุดกับการชำระเงินแบบ Bank transfer (โอนผ่านบัญชีธนาคาร) , Mobile payment (จ่ายเงินผ่านโทรศัพท์ เหมาะกับสินค้าที่เป็น Micro payment คือราคาไม่สูงนัก อยู่ในช่วง 10-500 บาท และค่าใช้จ่ายในการพัฒนาสูง) และถ้าทุนคุณสูงพอ คุณมีทีมพัฒนาที่เก่งกาจ และมันจำเป็นต้องมีการตัดเงินผ่านบัตรเครดิต การมีไว้มันก็ดีกว่าไม่มีแน่นอนครับ แต่ถ้ากลุ่มเป้าหมายเป็นชาวต่างชาติ อันนี้ต้องดูก่อนว่าคุณมี Process งานด้านนี้มาก่อน ถ้าคุณไม่เคยขายสินค้าใน Internet เลย และอยากจะเริ่มทำแนะนำให้จ่ายเงินผ่านคนกลางที่น่าเชื่อถือไปก่อน เช่น Paypal จนคุณมีลูกค้าอยู่ในมือบ้าง และคิิดว่าพร้อมแล้วที่จะลุยเต็มตัว ค่อยลงทุนทำทีหลังก็ไม่เสียหาย แต่อย่าเอาระบบตัดเงินผ่านบัตรเครดิตมาใช้ในตอนต้น ถ้าไม่จำเป็น (ความจำเป็นขึ้นอยู่กับ Business Model ของคุณเอง) เพราะค่าใช้จ่ายที่สูง และถ้ามันไม่ไปไม่สวย หรือมันไม่ Work มันไม่มีคนใช้ มันจะเป็นการขี่ช้างจับตั๊กแตน
*** SSL หรือ Secure Socket Layers เป็นโปรโตคอลในการส่งข้อมูลแบบเข้ารหัส ซึ่งวิธีเข้ารหัสจะแตกต่างกันไปในแต่ละเจ้า สังเกตุได้ง่ายๆ เมื่อเข้าเว็บที่ต้องทำธุรกรรมเกี่ยวกับการเงิน ระบบจะ Alert ถาม Yes/No และ http: จะเปลี่ยนเป็น https: โดยแต่ละเจ้าจะมี Certificated ให้เมื่อคุณซื้อ SSL ของเค้า และบางเจ้าถึงกับแจ้งว่า ถ้าถอดรหัสได้ รับไปเลย $10,000,000 (มั่นใจสุด ๆ )
*** Mobile payment ต้องเขียนโปรแกรมติดต่อ Webservice และต้องซื้อเบอร์จาก Operator แต่ละเจ้า ซึ่งแพงและกำหนดเป็น Slot ตามราคา เช่น ถ้าคุณเปิดช่องราคา 9 บาท และ 20 บาท เวลาคุณจะตัดเงินจากลูกค้า ก็จะตัดได้แค่ 2 ราคานี้เท่านั้น และเมื่อได้รับชำระเงินจะมี Service charge สูงถึง 40-50% ของราคาขายทีเดียว เหมาะกับสินค้าประเภท Software / E-book / Digital media file หรือสินค้าที่ไม่มีต้นทุนต่อจำนวน (นึกภาพ เวลาโหลด mp3 ไฟล์ต้นฉบับยังอยู่ โหลดกี่ร้อย กี่พันครั้ง ก็ไม่ได้มีต้นทุนเพิ่มขึ้น)
สุดท้ายก็ไม่อยากให้โฟกัสกันที่วิธีการมากนัก หากสินค้าคุณดีจริง ตัวเว็บมีภาพลักษณ์ที่น่าเชื่อถือ มีการจดทะเบียนถูกต้อง จนลูกค้ามั่นใจว่า จ่ายเงินไปแล้วจะได้สินค้าที่ตรงกับที่ระบุไว้ ต่อให้วิธีการจ่ายเงินยากยังไง เค้าก็จะพยายามหาทางติดต่อซื้อสินค้าจากคุณจนได้ Payment gateway ช่องทางต่าง ๆ เป็นเพียงทางเลือก เพื่อให้ลูกค้าตัดสินใจจ่ายเงินเลยได้ง่ายขึ้นเท่านั้น (บางครั้งคิดจะซื้อ กะไว้ว่าตอนเช้าจะไปโอนเงิน แต่เกิดเปลี่ยนใจตอนตื่นนอน ก็เป็นไปได้ ถ้าลูกค้าตัดสินใจแล้วจ่ายเงินได้เลย ตื่นเช้ามาก็แค่รอสินค้า เพราะจ่ายเงินไปแล้ว)
credit : http://www.siamhttp.com/site/article/payment-gateway-flow.html
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น